เทคนิคการกระโดดสูง
การกระโดดสูงท่าหงายหลังข้าม (Fosbury Flop) เป็นท่ากระโดดสูงที่นิยมมากที่สุดในปัจจุบัน เพราะเป็นท่าที่ทำสถิติดีที่สุด ลักษณะการวิ่งจะเป็นทางโค้งเข้าหาไม้พาด เช่น คนถนัดกระโดดด้วยเท้าซ้ายจะวิ่งทางด้านมุมขวาของไม้พาด โดยมีลักษณะลำตัวขณะข้ามไม้พาดคล้ายกับการทำสะพานโค้ง
เทคนิคการกระโดดสูง แบ่งออก เป็น 4 ขั้นตอน ดังนี้
1. การวิ่งก่อนกระโดด (Approach)
2. การกระโดดขึ้นจากพื้น (Take Off)
3. การลอยตัวข้ามไม้พาด (Bar Clearance)
4. การลงสู่พื้น (Landing)
1. การวิ่งก่อนกระโดด (Approach)
การวิ่งก่อนกระโดด จะวิ่งเป็นลักษณะการวิ่งทางโค้งเข้าหาไม้พาด แต่การวิ่ง
ของนักกีฬาจะมีความแตกต่างกันไปของแต่ละบุคคล เช่น ความเร็วในการวิ่ง รัศมีทางโค้งที่วิ่งเข้าหาไม้พาด ตลอดจนระยะทางในการวิ่ง เป็นต้น ระยะทางในการวิ่งส่วนมากนักกีฬาวิ่งเพียง 12 – 15 ก้าว โดยมีจุดหมาย 3 จุด เหมือนกัน คือ จุดหมายที่ 1 ถึงจุดหมายที่ 2 นักกีฬาวิ่งประมาณ 6 – 8 ก้าว ซึ่งมีลักษณะการวิ่งก้าวยาวยกเข่าสูงในลักษณะวิ่งโหย่งๆ เส้นทางการวิ่งช่วงนี้เป็นการวิ่งในลักษณะเส้นตรงเข้าหาจุดหมายที่ 2 จากจุดหมายที่ 2 ถึงจุดหมายที่ 3 เป็นช่วงของการวิ่งเข้าหาไม้พาด ช่วงนี้นักกีฬาเริ่มวิ่งเข้าสู่ทางโค้งและเพิ่มความเร็วขึ้นกว่าเดิม จากนั้นลักษณะของลำตัวช่วงนี้ เริ่มเอนเข้าสู่ทางโค้งและเพิ่มความเร็วมากขึ้น จังหวะสุดท้ายลักษณะของลำตัวช่วงนี้เริ่มเอนเข้าหาจุดศูนย์กลางของทางโค้งเพื่อลดแรงเหวี่ยงในการวิ่ง ส่วนรัศมีทางโค้งช่วงสุดท้ายนี้มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับรูปร่างของนักกีฬา เช่น ถ้านักกีฬามีความสูง น้ำหนักตัวมากรัศมีทางวิ่งก็มากเช่นกัน อาจมีรัศมีทางวิ่ง 8 เมตร แต่ถ้านักกีฬารูปร่างเล็กและน้ำหนักตัวน้อยแรงเหวี่ยงก็จะมีไม่มาก อาจลดรัศมีทางวิ่งลงเหลือเพียง 7 เมตร เป็นต้น
ข้อสำคัญของการวิ่งนักกีฬาที่ถนัดกระโดดขึ้นจากพื้นด้วยเท้าขวา จะวิ่งเข้าหาไม้พาดทางด้านมุมซ้ายของเบาะกระโดด และคนที่ถนัดขึ้นจากพื้นด้วยเท้าซ้าย จะวิ่งเข้าหาไม้พาดทางด้านมุมขวาของเบาะกระโดด
2. การกระโดดขึ้นจากพื้น (Take Off)
การกระโดดขึ้นจากพื้น ช่วงก้าวก่อนก้าวสุดท้ายก่อนกระโดดขึ้นจากพื้นควรสั้นกว่าก้าวอื่นๆ เท้าที่ใช้กระโดดควรสัมผัสพื้นแล้วกระโดดขึ้น (เตะ – กระโดด) ให้เร็วและเร่งความเร็ว(Accelerate) ขึ้น ปลายเท้าชี้ไปตามแนวของการวิ่ง อย่าให้เท้าบิดจากแนวที่ขนานกับแนวเบาะ(เพราะข้อเท้าจะบิด อาจทำให้เกิดการบาดเจ็บได้) เมื่อกระโดดขึ้นจากพื้นแล้วให้ยกขาท่อนบนที่ไม่ได้ใช้กระโดดขึ้นจากพื้นให้เข่าตั้งฉากและขาท่อนบนขนานกับพื้น โดยรักษาสภาพของท่าทางนั้นไว้ชั่วขณะเหวี่ยงแขนทั้งสองขึ้นสูงระดับศีรษะและคงสภาพนี้ไว้ เหยียดและยืด (Extended)ข้อเท้า เข่า และข้อต่อสะโพกขึ้นคู่
3. การลอยตัวข้ามไม้พาด (Bar Clearance)
เมื่อลำตัวเริ่มลอยสูงขึ้นไปเหนือไม้พาด จะเริ่มเป็นจังหวะเดียวกับการบิดลำตัวหันหลังเข้าหาไม้พาด ในจังหวะต่อเนื่องนี้เองให้เหวี่ยงแขนทั้งสองไปด้านหลัง พร้อมกับพยายามทิ้งศีรษะมองไปด้านหลังด้วย ซึ่งจะทำให้ส่วนของลำตัวอยู่ในลักษณะคล้ายสะพานโค้งบนไม้พาดการทิ้งศีรษะไปด้านหลังจะช่วยให้ยกสะโพกได้สูงขึ้น เมื่อลำตัวเริ่มเคลื่อนผ่านไม้พาดไปแล้วให้ดึงขาทั้งสองพร้อมกับเก็บคอขึ้นมาด้านบน ในจังหวะนี้แรงส่งที่มาจากการวิ่งและการกระโดดจะพาลำตัวของนักกีฬาผ่านไม้พาดไปได้
4. การลงสู่พื้น (Landing)
การลงสู่พื้นให้ลงด้วยส่วนหลังค่อนขึ้นไปบนไหล่ และแขนทั้งสองปล่อยตามมาด้านข้างเพื่อช่วยรองรับน้ำหนัก แยกขาทั้งสองข้างออกจากกัน (เพื่อป้องกันเข่ากระแทกใบหน้า)